Ferrari 812 Competizione ม้าลำพองที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา!

Last updated: 22 พ.ย. 2564  |  3061 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Ferrari 812 Competizione ม้าลำพองที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา!

    นับย้อนเวลากลับไปปี 2017 Ferrari ได้เผยซูเปอร์คาร์รุ่นใหญ่ วางเครื่องหน้าขับหลังในทรง GT ที่มีนามว่า 812 Superfast ที่เร็วแรงสมชื่อ ด้วยเครื่องยนต์ V12 6.5 ลิตร NA ที่ให้ประสบการณ์ขับขี่ที่เร้าร้อนอย่างยิ่ง ชนิดที่ซูเปอร์คาร์เครื่องยนต์เทอร์โบเทียบชั้นไม่ได้โดยเฉพาะรอบเครื่องยนต์ที่จัดจ้าน เสียงแผดคำรามที่จะเปิดทุกโสตประสาทสัมผัสของคุณให้ลุกโชนและต้องรอกันยาวนานถึง 4 ปีต่อมากว่าจะได้เห็นรุ่นฮาร์ดคอร์ ในชื่อว่า 812 Competizione ออกสู่สายตาชาวโลก แม้ว่าผมและสื่อมวลชนอีกหลายท่าน ต้องบินข้ามไปอีกซีกโลกเพื่อขอได้ทดสอบขับมันเพียงไม่กี่รอบที่สนาม Fiorano สนามบ้านเกิดของ Ferrari เมือง Modena ประเทศอิตาลี ก็นับว่าคุ้มแล้วที่ได้มา



       Ferrari ได้ทุ่มเททุกอย่างเพื่อสร้าง 812 Comp ให้เป็นที่สุดของยุคในไลน์ผลิต แน่นอนไฮไลท์ของ 812 Comp จะเป็นเรื่องอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากเครื่องยนต์ V12 6.5 ลิตร หายใจเองไร้เครื่องอัดอากาศ ที่คำรามได้ลั่นทุ่งแบบที่ไม่มีใครทำได้มาก่อน Ferrari อธิบายความพิถีพิถันบรรจงปรับแต่งโมดิฟายเครื่องบล็อกนี้ แด่สื่อมวลชนผู้มาเยือนถึงโรงงานอย่างละเอียดยิบว่ากว่าจะเพิ่มแรงม้าอีก 11 ตัว จาก 789 hp ในตัว 812 Superfast มาเป็น 812 hp ในตัวล่าสุด 812 Comp ได้ปรับแต่งอะไรบ้าง

จริงๆแล้ววิศวกร Ferrari บอกกับเราว่า เครื่องยนต์บล็อกนี้หลังถูกปรับแต่งโมดิฟายด์อย่างหนัก มันสามารถลากรอบเครื่องได้ถึง 10,000 รอบ/นาที ได้สบายๆ แต่เพื่อความทนทานต่อการใช้งานและยืดอายุการทำงานของเครื่อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเลยดรอปรอบสูงสุดล็อคไว้ที่ 9,500 รอบ/นาที แต่แค่นี้มันก็ได้ครองตำแหน่งเครื่องยนต์ V12 (production) ที่มีรอบเครื่องจัดจ้านที่สุดในโลกไปครองแล้ว!            

เคล็ดลับที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เครื่อง V12 6.5 ลิตรบล็อกนี้ (F140HC) รีดแรงม้าได้สูงมากและมีคาแรคเตอร์เป็นเครื่องรอบจัดจ้านวิศวกร Ferrari ใช้เทคนิคเคลือบคาร์บอนที่หัวลูกสูบสารคาร์บอนที่นำมาเคลือบนั้นมีคุณลักษณะคล้าย"เพชร" ที่ลดแรงเสียดทานได้สูงมาก DLC (Diamond-like coating) และใช้ finger-slider actuators ที่เป็นเทคโนโลยีจากรถแข่งฟอร์มูลาวันมาแทนที่กระเดื่องกดสปริงวาล์วแบบดั่งเดิมทำให้หัวขับวาล์วทำงานได้รวดเร็วเปิด-ปิดวาล์วได้ลึกกว่ากระเดื่องกดสปริงวาล์วนอกจากนี้แคมชาฟท์ทั้ง 4 แท่ง ยังถูกเคลือบด้วยสารคาร์บอน DLC เช่นเดียวกันเมื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของวาล์วทั้ง 48 ตัว โดยแคมชาฟท์แต่ละตัวถูกออกแบบมาแตกต่างกันเพื่อรีดแรงม้าได้สูงสุดในรอบสูงมากๆ ได้เต็มสมรรถนะนอกจากนี้ยังเคลือบสาร DLC ที่ตัวลูกสูบและก้านสูบอีกด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าจะแกร่งดุจเพชรสามารถทนต่อสภาวะเค้นรอบสูงระดับ 9, 500 รอบ/นาที ได้ โดยไม่อำลาโลกไปเสียก่อน นอกเหนือจากนี้เพลาข้อเหวี่ยงแบบ flat-plane ที่หล่อขึ้นรูปด้วยเหล็กชนิดแกร่งพิเศษถูกปรับถ่วงบาลานซ์สุดละเอียดและมีน้ำหนักเบาลง 3% เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์บล็อกเดิม ทำให้เครื่องบล็อกนี้สามารถรีดแรงม้าสูงสุดได้ขณะที่อยู่ในรอบเครื่องทำงานสูงที่ 9,500 รอบ/นาที ได้สบายๆ

 
      ส่วนเรื่องงานออกแบบสไตล์ภายนอกของ 812 Comp มันเหนือไปอีกเลเวลมันไม่พยายามดึงดูดสายตาด้วยวิงหลังขนาดเขื่องแบบที่รถ Track focus เค้ามักจะทำกันเพราะมันมาเหนือกว่าด้วยดีไซน์ช่องดักอากาศและดิฟฟิวเซอร์ที่ช่วยสร้างแรงกดอากาศซ่อนพรางตัวไว้ภายใต้บอดี้ที่ดูสวยสง่าเรียบหรูดูมีกึ๋นกว่าเยอะ ต้องยกเครดิตให้หัวหน้าทีมออกแบบ Flavio Manzoni ผู้ขัดเกลาให้ 812 Comp ดูสวยสง่าและสปอร์ตมากๆ ในคราวเดียวกันและที่เด็ดสุดๆ คือการออกแบบระดับขั้นเทพที่สามารถสร้าง downforce ได้เพิ่มอีก 80 กก. มากกว่าในรุ่น 812 Superfast ทั้งๆ ที่ไม่เห็นวิงหลังขนาดใหญ่ หรือ front diffuser ขนาดยื่นยาวเลยแม้แต่เงา! เคล็ดลับคือ diffuser หลังขนาดยักษ์ที่คอยสร้าง downforce มหาศาลที่ด้านหลัง  และเทคนิคบังคับทิศทางเดินของกระแสลมไปตามส่วนต่างๆ ของตัวรถเพื่อสร้างแรงกดอากาศในส่วนที่จำเป็นให้มากพอ ก่อให้เกิดความนิ่งมั่นคงเวลาขับบนความเร็วสูง หรือเข้าโค้ง-ออกโค้งบนความเร็วสูง โดยไม่มีผลกระทบกับความลู่ลม เอาตรงๆ แนวคิดนี้ยากเสียยิ่งกว่าติดตั้งปีกหลังขนาดเขื่องเพื่อสร้าง downforce เสียอีก อีกหนึ่งจุดที่โดดเด่นเตะตาคือช่องดักอากาที่มีมากมายหลายช่องทางด้านหน้ากันชน ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่ป้อนอากาศเย็นๆเข้าระบายความร้อนในห้องเครื่อง แต่ยังคอยทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของอากาศไปสู่จุดสำคัญต่างๆที่ถูกกำหนดไว้ เพื่อสร้างอากาศพลศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมในทุกสถานการณ์อีกด้วยมาถึงด้านท้ายรถ ผมเองยังแปลกใจเมื่อไม่เห็นกระจกบังลมหลัง แต่มันถูกปิดตายและติดตั้ง Vortex generators 3 คู่ ทำหน้าที่บังคับทิศทางลมให้เป็นระเบียบ เพื่อสร้าง downforce ไปที่สปอยเลอร์ท้ายทรง "ตูดเป็ด" ขนาดใหญ่บนฝากระโปรงหลัง ด้วยเทคนิกนี้สามารถสร้าง downforce เพิ่มขึ้น 10% แต่อ้าวเดี๋ยวก่อน.. แล้วจะมองมุมท้ายรถยังหละถ้าไม่มีกระจกหลัง?! คำตอบคือทีมวิศกรแก้ปัญหาให้โดยติดตั้งกล้องไว้ที่ท้ายรถพร้อมจอให้ดูแทนเรียบร้อยแล้วนั่นเอง




     แม้ว่าหลังโควิด 19 จะเริ่มซาแต่มาตรการความปลอดภัยของที่นี่ยังเข้มงวดนักข่าว 1 คน ที่ได้คิวขับทดสอบจะถูกอนุญาตให้เข้าสนามได้ครั้งละคนเท่านั้น ใครที่ยังไม่ถึงคิวต้องรออย่างเดียวจนกระทั่งถึงคิวผมกฎกติกาในการขับทดสอบที่สนาม Fiorano 4 รอบแรกจะให้ขับตาม Pace Car (รถนำ) ซึ่งก็คือ 812 Comp อีกคันนั่นแหละ ขับโดยนักขับโรงงานฝีมือฉกาจคอยวิทยุเข้าสอนเราใช้โหมดต่างๆ เป็น 4 รอบที่สร้างความคุ้นเคยกับสนามและรถ และจะให้ขับอีก 4 รอบแบบเต็มที่ใน TRACK Mode ยกเว้นกรณีเดียวที่ไม่ให้กดสุดหากมีฝน! และความโชคร้ายดันมาเกิดขึ้นกับผมในช่วง 4 รอบแรก เพราะฝนดันตกซะนี่! ฝนโหมกระหน่ำอย่างหนักในขณะที่ผมขับอยู่ในโหมด RACE (เพราะไม่อยากขับโหมดซอฟท์ๆ เท่าไหร่อุตส่าห์บินมาไกลเพื่อสิ่งนี้ทั้งที) บอกตามตรงผมไม่ค่อยได้ยินเสียงวอจากนักขับโรงงานเท่าไหร่ เพราะเสียงคำรามของเครื่องยนต์ที่ลากรอบไปสุดที่ 9,500 รอบ/นาที มันแผดคำรามดังก้องภายในห้องโดยสารกลบเสียงอื่นใดซะสนิท เอาเป็นว่าผมพยายามขับสุดฝีมือเพื่อไล่ตามคันนำที่ดูเหมือนจะค่อยๆทิ้งห่างคันผมไปเรื่อยๆ ด้วยความลื่นของผิวแทร็กทำให้การยึดเกาะถนนน้อยลง 

ทันทีที่ผมแตะคันเร่งแผ่วๆสามารถสัมผัสได้ถึงพละกำลังมหาศาลที่ล้อคู่หลัง รถมีอาการท้ายสไลด์ออกทันที มีหลายต่อหลายครั้งที่ตัวรถขวางทั้งลำไม่ใช่ว่าผมจงใจดริฟต์ในโค้งนะที่มันขวางเพราะผิวแทร็กที่เปียกลื่นอยู่และผมพยายามเติมคันเร่งเท่านั้น กรณีนี้จะเห็นได้ชัดว่าระบบช่วยการทรงตัวกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อดึงรถให้อยู่ในร่องในรอย ด้วยการควบคุมของระบบ SSC 7.0 (Side Slip Control) ที่ทำงานร่วมกับระบบ traction control, brake actuation, magna-ride suspension และระบบอิเล็กทรอนิกส์ differential วิศวกร Ferrari ยังเสริมระบบเลี้ยวล้อหลังเวอร์ชั่นล่าสุด ที่สามารถควบคุมองศาหักเลี้ยวของล้อซ้ายหลังและล้อขวาหลังอิสระต่อกันได้!

       ฟังดูโคตรเจ๋ง!! แล้วมันทำงานยังไงหละ!? ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆว่ามันจะเห็นผลชัดสุดในกรณีไหน เมื่อคุณกำลังเข้าโค้ง "ตัวเอส" ด้วยความเร็วสูงที่ต้องอาศัยการเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว ในสภาวะนี้ล้อคู่หลังจะรับภาระหนักยิ่งต้องเปลี่ยนทิศทางรวดเร็วกระทันยิ่งสาหัสหนัก เมื่อมีระบบเลี้ยวล้อหลังแบบใหม่เข้ามาช่วยนอกเหนือจากล้อคู่หลังจะเลี้ยวทำมุมตรงข้ามกับล้อคู่หน้าในกรณีความเร็วต่ำ หรือเลี้ยวไปทิศทางเดียวกับล้อคู่หน้าบนความเร็วสูงแล้วระบบจะสั่งให้ล้อหลังนอกโค้ง toe-in (ทำมุมเอียงเข้าเล็กน้อย) ด้วยเทคนิคนี้ทำให้รถเข้าโค้งเอสได้มั่นคงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากตัวรถมีการถ่ายโอนน้ำหนักจากซ้ายไปขวาได้นิ่งมั่นคงมากขึ้นนั่นเอง เมื่อล้อคู่หลังมีการตอบสนองสอดรับกับการกระทำของล้อคู่หน้าอย่างสอดประสานแบบนี้มันเลยทำให้เกิดความรูสึกว่าฐานล้อรถสั้นกระชับเป็นชิ้นเดียว คือโยกซ้ายไปซ้าย ขวาไปขวาแบบทันทีไม่มีอาการย้วยให้ได้สัมผัสเลย แถมวงเลี้ยวแคบลงเวลาเลี้ยวเข้าจอด (ความเร็วต่ำกว่า 5 กม./ชม.) ล้อคู่หลังจะเลี้ยวสวนทางกับพวงมาลัย ในกรณีเบรกหนัก ล้อคู่หลังจะถูกสั่งให้ทำมุมเข้าหากัน toe-in เพื่อช่วยให้ตัวรถเบรคหนักได้นิ่งไม่มีอาการปัดเป๋ และสั่งให้ทำมุม toe-out (ถ่างออก) ในกรณีเร่งความเร็วเพื่อให้หน้ายางตั้งฉากกับผิวถนนมากที่สุด เพื่อเอาแรงขับเคลื่อนลงสู่พื้นถนนได้เต็มที่

           

     นอกจาก RACE Mode ที่ผมกดใช้ส่วนใหญ่ในการขับ 8 รอบที่สนาม Fiorano แล้วที่เหลืออีก 3 รอบสุดท้ายผมได้ลอง WET Mode และ SPORT Mode ซึ่งโหมดแรกไม่ค่อยเหมาะที่จะขับในสนามเท่าไหร่ เพราะขับไม่สนุก มันคอยเข้าควบคุมเมื่อกดคันเร่งลึกเกินทันที และคอยตรวจจับล้อหมุนฟรีตลอดเสี้ยววินาทีระบบจะตัดกำลังเครื่องทันทีไม่ให้เติมคันเร่ง เข้าควบคุมเบรกเพื่อให้รถขับอยู่ในไลน์ที่ปลอดภัยตลอดเวลา ส่วนโหมด Sport เป็นโหมดที่ทำให้ผมค้นพบว่าเหมาะมากที่จะขับบนสนามแข่งเหมือนกัน ระบบจะยอมให้สไลด์บ้างได้ปลดปล่อยความระห่ำเดือดของขุมพลังและความดิบของรถขับหลังที่มีม้าระดับ 819 แรงม้า! แต่ไม่แนะนำให้ใช้โหมด Sport ขับบนถนนที่ฝนตกชุก แต่ผมรับประกันว่าขับได้ดีในสนามแข่งแม้จะมีฝนบ้างก็ตาม 

    ในวันอากาศดี Ferrari เคลมว่านักขับโรงงานของค่ายสามารถขับ 812 Comp ที่สนาม Fiorano ได้เวลา 1:20 นาที! เร็วกว่า 812 Superfast 1.5 วินาที และเร็วกว่า F12 tdf อยู่ 1 วินาทีเต็มๆ ฟังดูไม่ต่างกันมากแต่กว่าจะขับได้เร็วขนาดนี้นักขับโรงงานคนนั้นต้องมีความเก๋าและความสามารถเหนือมนุษย์ธรรมดาเพื่อหา sweet spot ที่ซ่อนอยู่ในรถแต่ละคัน ซึ่งจุดๆ นั้นมันอยู่ใน 1 ของพันส่วนวินาทีที่จะสามารถเข้าถึงได้ แน่นอนนักขับทดสอบฝีมือทั่วไปอย่างผมและอีกหลายคนไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ต้องเอ่ยปากชมว่า 812 Comp คือ Track Weapon ที่ยอมให้คนขับเข้าถึงมันเพื่อดึงศักยภาพของมันออกมาใช้ได้ง่ายมากแล้ว เมื่อเทียบกับคันอื่นๆที่ผ่านมา มันเป็นมิตรและผ่อนปรนแต่ก็ไม่ง่ายขนาดกดปุ่มแล้วขับมันให้ได้เวลาเท่ากับนักขับโรงงานหรอกนะ คงเป็นเรื่องที่พูดยากว่าเครื่องยนต์สันดาบ V12 หายใจเองโคตรเจ๋งแบบนี้จะอยู่ไปอีกกี่ปีข้างหน้า เครื่องยนต์สันดาปจะถูกยุบถูกกลืนกินไปด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าไปกันทั้งอุตสาหกรรมหรือไม่ แม้ Ferrari จะเสนอทางออกด้วยระบบ Hybrid ที่เราเห็นในตัว SF90 Stradale และล่าสุดใน 296 GTB มันอาจพิสูจน์ได้ว่าอนาคตรถ Ferrari ใช้เครื่องเล็กลงแต่ก็แรงได้จริงอยู่ แต่ไม่มีทางเทียบประสบการณ์ขับซูเปอร์คาร์เครื่องยนต์สันดาป V12 ไร้เทอร์โบ ไร้มอเตอร์ไฟฟ้า ไร้แบตเตอรี่แบบนี้เป็นแน่ คิดดูว่าขนาดช่วงโรคระบาดแบบนี้ 812 Comp ตัวคูเป้ทั้ง 999 คัน และรุ่นเปิดหลังคา Aperta อีก 599 คัน ขายหมดเกลี้ยง! จงภูมิใจเถิดว่าเรากำลังพึ่งผ่านพ้นยุคทองของอุตสาหกรรมยานยนต์ "เครื่องยนต์ V12 จงเจริญ!"

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้